อ่านก่อนซื้อรถยนต์ไฟฟ้า -ย่อยเงื่อนไข ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า ฉบับแรกของไทย

- Advertisement -
- Advertisement -

1 ม.ค. 2567 เป็นวันเริ่มต้นมีผลบังคับใช้กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับแรกในไทย (สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ออกคำสั่งนายทะเบียน ฉบับที่ 47/2566 เรื่อง ให้ใช้แบบ ข้อความ และพิกัดอัตราเบี้ยประกัน ของกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้า) ซึ่งช่วยให้เกิดความชัดเจนยิ่งขึ้นเกี่ยวกับการกำหนดขอบเขตความคุ้มครองและโครงสร้างราคาเบี้ยประกัน อันเป็นประเด็นหนึ่งที่มีความสำคัญไม่น้อยต่อการตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าของคนไทย

Advertisements

โดยเฉพาะความกังวลเกี่ยวกับความคุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากแบตเตอรี่ ค่าซ่อม และรถหายจากการถูกแฮ็กระบบปฏิบัติการ ฯลฯ ทั้งนี้ ได้ให้เวลาบริษัทประกันดำเนินการออกกรมธรรม์ประกันรถยนต์ไฟฟ้าตามเกณฑ์ใหม่นี้ ภายใน 31 พ.ค.2567
        กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า (Battery Electric Vehicle: BEV) ฉบับนี้ เกิดจากความร่วมมือของบริษัทประกันภัยกับหน่วยงานทางการที่เกี่ยวข้อง ในการสร้างมาตรฐานเฉพาะสำหรับการรับประกันรถยนต์ไฟฟ้า โดยเฉพาะการใช้เป็นรถส่วนบุคคล ซึ่งแตกต่างจากกรมธรรม์ปัจจุบันที่นำกรมธรรม์ประกันรถยนต์ทั่วไป ทำให้ขอบเขตความคุ้มครองและพื้นฐานการคำนวณเบี้ยประกัน มีความชัดเจน สมเหตุผล และสะท้อนความเสี่ยงได้ดีขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังคำนึงถึงความเสี่ยงของบริษัทประกันภัย ซึ่งมีส่วนช่วยเพิ่มจำนวนบริษัทประกันที่มีความพร้อมในการรับประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้า และขยายโอกาสในการมีทางเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ประกันภัยของผู้บริโภคที่ตอบโจทย์การใช้งานได้ดีขึ้นในระยะข้างหน้า สรุปสาระสำคัญต่อไปนี้

   กรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้าฉบับใหม่ ช่วยเพิ่มความชัดเจนให้การทำประกันมีมาตรฐานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นแนวทางการคิดเบี้ยประกัน และขอบเขตความคุ้มครอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความคุ้มครองแบตเตอรี่ อันเป็นชิ้นส่วนหลักที่มีราคาสูงถึง 70-80% ของรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ขับขี่รถยนต์ไฟฟ้าและลดข้อพิพาทลงได้ อย่างไรก็ดี เนื่องจากปริมาณรถยนต์ไฟฟ้าในไทยยังอยู่ในช่วงเริ่มต้นเติบโตและยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ ทำให้ค่าซ่อมและค่าอะไหล่ทดแทนเมื่อเกิดความเสียหายต่อตัวรถยังสูงกว่ารถยนต์ทั่วไปโดยเฉลี่ย 20-30% ดังนั้น แม้แนวโน้มราคาเบี้ยประกันรถยนต์ไฟฟ้าในปี 2567 คงทยอยปรับตัวลดลง แต่ยังสูงกว่าเบี้ยประกันรถยนต์ทั่วไปในช่วงราคาเดียวกัน
        นอกจากนี้ ฐานข้อมูลสถิติการรับประกันภัยรถที่พบว่ามีความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมผู้ขับขี่ต่อความเสี่ยงในการรับประกันภัยรถอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น หากสามารถสร้างระบบฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ของบุคคลได้ จะช่วยให้การกำหนดเบี้ยประกันภัยรถยนต์ไฟฟ้ามีสถิติที่ใช้อ้างอิงได้ดีขึ้น และส่งผลให้โครงสร้างราคาเบี้ยประกันมีความเหมาะสมมากขึ้น โดยไม่เป็นภาระต่อผู้ขับขี่ที่มีประวัติดีในระยะต่อไป

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันการจัดทำฐานข้อมูลกลางที่เก็บประวัติการขับขี่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งยังต้องรอการผลักดันเชิงระบบในลักษณะเดียวกับการจัดทำเครดิตบูโรที่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินรายหลักที่เป็นสมาชิกทั้งระบบ

ดังนั้น ในช่วงแรกจึงอาจจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างบริษัทประกันด้วยกัน ให้ตระหนักถึงความเสี่ยงจากพฤติกรรมผู้ขับขี่ และไม่สนับสนุนการแข่งขันหรือการเปลี่ยนบริษัทประกันเพื่อหลบเลี่ยงเบี้ยส่วนเพิ่มจากประวัติการเคลมประกัน 

Advertisements

  
 

ที่มา:ศูนย์วิจัยกสิกรไทย

Advertisements
- Advertisement -

Related news

- Advertisement -
Exit mobile version