ไทยฮอนด้าผู้นำตลาดคาด ปี67ตลาดเติบโตลดลง6% ในขณะที่ ยามาฮ่ามองร้าย ร่วงกว่า9%
ไทยฮอนด้า เปิดเผยยอดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ฮอนด้าปี2566 ภาพรวมตลาดแตะระดับ 1.88 ล้านคัน ฮอนด้าคว้ายอดจดทะเบียนสูงสุดที่ 1.47 ล้านคัน ครองอันดับที่ 1 ติดต่อกันเป็นปีที่ 35
นายชิเกโตะ คิมูระ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายรถจักรยานยนต์ และเครื่องยนต์อเนกประสงค์ฮอนด้า เปิดเผยว่า ภาพรวมตลาดรถจักรยานยนต์ไทยปี 2566 ตลาดรวมมียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 1.88 ล้านคัน เติบโตขึ้น 4%เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
โดยกลุ่มรถเอ.ที.(เกียร์อัตโนมัติ) ได้รับความนิยมสูงที่สุดมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 49% เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 5% ถือเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มเติบโตขึ้นต่อเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปจากการใช้งานที่สะดวกสบาย และมีสไตล์ให้เลือกอย่างหลากหลาย ในขณะที่อันดับรองลงมาเป็นรถครอบครัว โดยมีสัดส่วนอยู่ที่ 47% และกลุ่มรถสปอร์ตมีสัดส่วนอยู่ที่ 3%”
นายคิมูระ กล่าวต่อไปว่าสำหรับในปี 2567 ด้วยปัจจัยของสภาวะเศรษฐกิจของโลกที่ไม่แน่นอนการเปลี่ยนแปลงในเรื่องกฎหมายด้านการเงิน ปัญหาหนี้สินครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อาจทำให้ลูกค้าชะลอการซื้อสินค้า และส่งผลให้ความต้องการในตลาดปี2567ลดลง โดยคาดว่าตลาดรถจักรยานยนต์ไทยจะมียอดจดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 1.70 – 1.75 ล้านคัน หรือลดลง 6%เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว
วางเป้าปีมังกร1.35ล้านคัน
สำหรับจักรยานยนต์ฮอนด้า นายคิมูระ กล่าวว่า ปี2567 ฮอนด้าพร้อมที่จะสร้างความคึกคักให้กับตลาดผ่านการส่งมอบประสบการณ์ในการขับขี่ที่ไม่รู้จบ ทั้งรถจักรยานยนต์ที่เหมาะกับการใช้ชีวิตของแต่ละกลุ่มเป้าหมาย และการจัดกิจกรรมให้กับผู้ใช้อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยทุกกิจกรรมถูกสร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้ตรงใจผู้บริโภคมากที่สุดฮอนด้าวางเป้าจำหน่ายปี2567 ไว้ที่ 1.30 -1.35 ล้านคัน
ส่วนผลประกอบการของไทยฮอนด้าในปี 2566 ที่ผ่านมาฮอนด้ามียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 1.47 ล้านคัน เติบโตขึ้น 6% เป็นการเติบโตมากกว่าตลาดรวม 2% จากการที่ฮอนด้าได้เปิดตัวรถรุ่นใหม่ๆต่อเนื่อง พร้อมกับการผลักดันกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมการขายไปทั่วประเทศ รวมถึงรถรุ่นใหม่อย่าง Honda Giorno+ ที่เปิดตัวไปได้ไม่นานช่วยผลักดันให้กลุ่มเอ.ที.มีการเติบโตในปีที่ผ่านมา
เผยโมเดล ทอป5 ตลาดจักรยานยนต์ขายดี
นอกจากนี้ ฮอนด้ายังคว้ายอดจดทะเบียนสูงสุด 5 อันดับแรก นำโดย Wave110i ที่มีตัวเลขอยู่ที่ 511,659 คัน ตามด้วยอันดับที่ 2 คือ Wave125i จำนวน 254,141 คัน อันดับที่ 3 เป็น Scoopy จำนวน 218,113 คัน อันดับที่ 4 คือ PCX160 จำนวน 146,212 คัน และอันดับที่ 5 Click Series ที่มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 114,202 คัน
ตัวเลขดังกล่าวยังทำให้ฮอนด้าคว้าอันดับ 1 ในทุกเซกเมนต์อีกด้วย โดย Wave110i ครองความเป็นที่ 1 ในกลุ่มรถครอบครัว ในขณะที่ Scoopy ครองอันดับ 1 ในกลุ่มรถเอ.ที. และในส่วนของกลุ่มรถสปอร์ต CRF300L มียอดจำหน่ายสูงสุดในกลุ่มนี้ที่ 7,840 คัน
ตลาดบิ๊กไบค์ทรุดตัว9%
ในส่วนของตลาดรถบิ๊กไบค์ หรือรถจักรยานยนต์ขนาด 400cc ขึ้นไป ตลอดปี 2566 มียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 15,468 คัน ลดลง 9% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ในขณะที่ฮอนด้ามีตัวเลขอยู่ที่ 7,035 คัน เติบโตขึ้น 7% มากกว่าตลาดรวม และในปี 2567 คาดว่าตลาดรวมจะอยู่ที่ระดับ 15,000 คัน ในขณะที่ฮอนด้าตั้งเป้ายอดจำหน่ายไว้ที่ 7,000 คัน โดยปัจจัยบวกที่ทำให้ฮอนด้าเติบโตประกอบไปด้วยการเปิดตัวเทคโนโลยีใหม่อย่าง Honda E-Clutch ในรถตระกูล 650Series และการจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่องให้กับผู้ใช้
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไทย มีภาวะอิ่มตัวมาก่อนหน้านี้การประเมินของไทยฮอนด้า เป็นสิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าตลาดรถจักรยานยนต์ของไทยจะอยู่ในระดับไม่เกิน2ล้านคันต่อปีไปอีกระยะหนึ่ง
ยามาฮ่าประกาศโตเพิ่ม4%
รายงานข่าวจากบริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ผุ้ผลิตและจำหน่ายจักรยานยนต์ยามาฮ่า เปิดเผยว่า แผนการตลาดของยามาฮ่าในการ เดินหน้ารุกตลาดรถจักรยานยนต์ไทยในปี 2567 บริษัทตั้งเป้าโตขึ้น 4% เพื่อเพิ่มส่วนแบ่งตลาดให้ได้ 16.4%
ยามาฮ่ามองตลาดรวมลดลง9%
นายพงศธร เอื้อมงคลชัย ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวว่าในปี 2567 นี้ แม้การคาดการณ์ตลาดรวมรถจักรยานยนต์ภายในประเทศจะลดลงมาถึง 9% โดยมียอดจดทะเบียนอยู่ที่ประมาณ 1.71 ล้านคัน ซึ่งมีผลมาจากปัจจัยเสี่ยงของปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ผันผวน ปัญหาหนี้ครัวเรือน และหนี้เสียที่สูงขึ้น รวมถึงกฎหมายควบคุมดอกเบี้ยเช่าซื้อที่จะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ส่วนปัจจัยบวกเกิดจากภาพรวมการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัว การลงทุนเพิ่มจากภาครัฐ และนโยบายการควบคุมราคาน้ำมันเชื้อเพลิง
“สำหรับปี 2566 ที่ผ่านมา ตลาดรวมยอดจดทะเบียนรถจักรยานยนต์ในประเทศไทยทั้งหมดอยู่ที่ 1,877,919 คัน ถือว่าเติบโตขึ้นจากการคาดการณ์ในปี 2565 เล็กน้อย ส่วนยามาฮ่ามียอดจดทะเบียนอยู่ที่ 269,682 คัน โดยมีส่วนแบ่งการตลาดอยู่ที่ 14.4% ของตลาดรวมรถจักรยานยนต์ไทย”นาย
ยามาฮ่าเล็งโตเพิ่ม4%รุกหนักรักษาแชร์
อย่างไรก็ตาม ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ ยังคงมุ่งมั่น เดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้ตราสินค้ายามาฮ่าในประเทศไทย โดยในปีนี้ ยามาฮ่าคาดการณ์ว่า จะเติบโตเพิ่มขึ้นได้อีก 4% และจะครองส่วนแบ่งการตลาดที่ 16.4% ของตลาดรวมในประเทศ โดยมีเป้าหมายการจำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าที่ 280,000 คัน ผ่านการสานต่อการตลาดแบบเชิงรุกของยามาฮ่า
เปิดกลยุทธ์ยามาฮ่าปี67
นายภาณุพล กิตติคำรณ ผู้จัดการใหญ่ด้านการค้า บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด กล่าวเสริมถึงกลยุทธ์รูปแบบการตลาดของยามาฮ่าในปี 2567 ว่า เพื่อมัดใจกลุ่มลูกค้าของยามาฮ่าในปีนี้ บริษัทมีแนวทางการเสริมสร้างความแข็งแกร่งสู่ความเป็น Premium Brand กับนโยบายการขาย และการตลาดเฉพาะกลุ่มมากยิ่งขึ้น พร้อมร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในการส่งเสริมการขาย เพื่อมอบประสบการณ์ที่ประทับใจให้กับลูกค้าผ่านกิจกรรมต่างๆ ตลอดทั้งปี 2567
พร้อมกันนี้ยามาฮ่า ยังมีการสร้างแบรนด์ให้เป็นจุดแข็ง ด้วยปรัชญา KANDO เพื่อมุ่งสู่ความเป็น Lifetime Customer With YAMAHA as The “PREMIUM BRAND” พร้อมด้วย 6 นโยบายการตลาดเพื่อเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดดังนี้
1. ONE TEAM: สร้างทีมที่แข็งแกร่งระหว่าง ยามาฮ่า ร้านผู้จำหน่าย และบริษัทเช่าซื้อ
2. เสริมสร้างการตลาดทั้ง Online และ On Ground: มุ่งเน้นเข้าหาพื้นที่ต่างๆ ที่มีศักยภาพใหม่ๆ ทั่วประเทศ พร้อมพัฒนาร้านผู้จำหน่ายในการทำการตลาดในรูปแบบ Online เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
3. เพิ่มความแข็งแกร่งในเครือข่ายร้านผู้จำหน่าย: พัฒนา NEW YAMAHA SQUARE และยกระดับมาตรฐาน และบริการเพิ่มขึ้นอีก 80 แห่ง
4. ส่งมอบประสบการณ์ PREMIUM EXPERIENCE ให้ลูกค้า: อัดแน่นด้วยหลักสูตรพัฒนา และอบรมแก่พนักงานร้านผู้จำหน่าย YAMAHA SQUARE และร้านสาขา ด้วย 4 หลักสูตรโดยผู้เชี่ยวชาญจากยามาฮ่า เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์การขาย และการบริการระดับพรีเมี่ยมให้มัดใจลูกค้าใหม่ และลูกค้าเก่า
5. อัดแน่นด้วยการตลาดเฉพาะกลุ่ม Personalize Marketing: อัดแน่นด้วยกิจกรรมทางการตลาดโดยเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารถออโตเมติก กลุ่มลูกค้ารถครอบครัว และกลุ่มลูกค้ารถสปอร์ต ให้เหมาะกับภาพลักษณ์ และไลฟ์สไตล์ของลูกค้า
6. เปิดตัวรถรุ่นใหม่ 5 รุ่น ครบทุกเซกเม้นต์: เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า สามารถติดตามความเคลื่อนไหวผ่านสื่อของยามาฮ่าทุกช่องทาง และร้านผู้จำหน่ายรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าทั่วประเทศ พร้อมด้วยการมุ่งเน้นพัฒนาเครือข่ายร้านผู้จำหน่ายด้วยความทันสมัย ด้วยการเพิ่มระบบต่างๆ ดังนี้
1. LEAD Management: พัฒนาระบบ Y-LEAD มัดใจลูกค้าที่ต้องการผลิตภัณฑ์เพื่อการตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว
2. TYM Sales Consultant: ระบบช่วยเหลือผู้จำหน่ายในการส่งข้อมูล รวมถึงการเสริมสร้างในความเข้าใจกลไกตลาดรถจักรยานยนต์ด้วย Sales Application พร้อมสร้างทีมอบรมให้ความรู้แก่พนักงานของร้านผู้จำหน่าย เพื่อให้ลูกค้าได้รับ “Premium Experience”
3. สร้างความสะดวกให้กับลูกค้าในด้าน Service และ Spare Part ด้วย Service Booking: เพิ่มช่องทางในการเลือกช่วงเวลาในการเข้ารับบริการผ่าน YAMAHA Call Center / Fast Track เพิ่มปริมาณแท่นซ่อมสำหรับงานซ่อมที่ใช้เวลาน้อยเพื่อการบริการที่รวดเร็วยิ่งขึ้น / Service Status Monitor อุ่นใจทุกครั้งที่เข้ารับบริการกับจอแสดงผลการซ่อม และสามารถประเมินเวลาในการซ่อมบำรุงได้อย่างแม่นยำ / Parts Pro Care อุ่นใจกับความพร้อมของอะไหล่เคลื่อนไหวเร็วกว่า 100 รายการ ที่มีการเติมอะไหล่ให้ผู้จำหน่ายอัตโนมัติเมื่อของหมด (Auto Fill Fast Moving Parts) ทำให้ร้านผู้จำหน่ายมีอะไหล่พร้อมบริการลูกค้าได้ตลอดเวลา โดยทั้งหมดเพื่อรองรับลูกค้าให้กลับเข้ามารับบริการที่ศูนย์บริการมากยิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ ยามาฮ่ายังคงมอบความมั่นใจในสินค้าด้วยการกล้ารับประกันสินค้า 5 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร ให้กับลูกค้า และสร้างการรับรู้ให้กับกลุ่มเป้าหมาย ในการรับประกันสินค้ามากที่สุดในกลุ่มธุรกิจยานยนต์ ด้วยระยะเวลาการรับประกัน ถึง 5 ปี หรือ 50,000 กิโลเมตร และสำหรับในรถจักรยานยนต์ยามาฮ่าฟินน์ ให้การรับประกัน 5 ปี แบบไม่จำกัดระยะทาง เพิ่มความเชื่อมั่นในการตัดสินใจซื้อสินค้าเพื่อที่จะได้รับการบริการที่ดีเยี่ยม
หลากผู้ค้าแต่แชร์เกาะกลุ่ม
สำหรับตลาดรถจักรยานยนต์ไทย เมืองไทย เดือนมกราคา2567 มีรายงานว่า มีรถจักรยานยนต์ทั้งหมด 58 ยี่ห้อที่ทำตลาด ลดลงจากเดิมที่มีอยู่ 91 ยี่ห้อ โดยมีขนาดเครื่องยนต์ตั้งแต่110cc ไปจนถึงเกิน400cc
รถจักรยานยนต์ที่เป็นผู้นำตลาดได้แก่ ฮอนด้า อันดับสองคือ ยามาฮ่า ตามด้วยเวสป้า GPX และซูซูกิ
สำหรับยี่ห้ออื่นๆ มียอดขายน้อยมากจนแทบไม่มีอิทธิพลต่ออัตราการเติบโตของตลาด