หาคำตอบทำไมรถยนต์ไฟฟ้า ระยะวิ่งจริงไม่ตรงปกที่โฆษณา
ระยะทางวิ่งของยานพาหนะทุกชนิดมีการเปลี่ยนแปลงเนื่องจากได้รับผลกระทบจาก ความเร็ว น้ำหนักบรรทุกและสภาพอากาศ ดังนั้นโดยทั่วไปแล้วผู้ขับขี่จะไม่สามารถวิ่งได้ตามตัวเลขระยะทางที่เป็นทางการได้จริง อย่างไรก็ตาม ระยะทางสูงสุด (Driving Range) ต่อการชาร์จ 1 ครั้ง ที่ผู้จำหน่ายรถแสดงนั้นใช้เป็นตัวอ้างอิงเทียบเคียงเวลาเลือกซื้อรถได้ แต่ที่น่าสนใจคือ มาตรฐานการทดสอบที่คุมตัวแปรให้คงที่ ภายใต้สภาพแวดล้อมเดียวกัน ทำไมแตกต่างกันหลายมาตรฐาน เรากำลังพูดถึง มาตรฐานไหนที่ประเทศไทยควรอ้างอิง และตอบโจทย์ใกล้เคียงความจริงในการใช้งานเบื้องต้นมีข้อสังเกตุว่า ในตลาดของเรานั้น ยังไม่ใช่มาตรฐานเดียวกันและไม่ทันสมัย รวมถึงไม่มีการบังคับจากหน่วยงานที่ควรจะทำ เพราะว่า ด้วยข้อมูลเทคนิคที่แตกต่างกันนี้ ตัวเลขทางการตลาด มีผลจูงใจให้คนใช้รถตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้าอย่างมาก
ระยะทางสูงสุด (Driving Range) ในโลกนี้มีมาตรฐานหลายมาตรฐาน Auto.co.th รวมรวมมาให้เห็นภาพในตารางต่อไปนี้
ตารางแสดงมาตรฐานการทดสอบระยะทางวิ่ง
มาตรฐาน | ชื่อเต็ม | ปีเริ่มต้นใช้ | ภูมิภาคที่ใช้ | เงื่อนไขการ ทดสอบ | ข้อเด่น | ข้อด้อย |
---|---|---|---|---|---|---|
NEDC | New European Driving Cycle | 1980s | ยุโรป(เลิกใช้) ปัจจุบันจีน ไทย อาเซียน | จำลองการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง ความเร็วต่ำ-ปานกลาง | ง่ายต่อการเทียบเคียงระหว่างรถยนต์รุ่นต่างๆ | ไม่สะท้อนการใช้งานจริง, ประเมินสูงเกินจริง |
WLTP | Worldwide Harmonized Light Vehicle Test Procedure | 2017 | ยุโรป, ญี่ปุ่น, เกาหลี | ขับขี่ที่ความเร็วต่างๆ (ต่ำ-สูง) และในสภาพแวดล้อมต่างๆ | สะท้อนการใช้งานจริงมากกว่า NEDC | ยังคงมีความเบี่ยงเบนจากการใช้งานจริงบางส่วน |
EPA | Environmental Protection Agency | 1970s | อเมริกา | ขับขี่บนทางหลวงและในเมืองที่แตกต่างกัน โดยมีการจำลองสถานการณ์จริงมากขึ้น | สะท้อนระยะการวิ่งในสภาพการใช้งานจริงดี | ระยะการวิ่งที่ต่ำกว่ามาตรฐานอื่นๆ |
CLTC | China Light-Duty Vehicle Test Cycle | 2021 | จีน | เน้นการขับขี่ในเมือง ความเร็วต่ำถึงปานกลาง | ออกแบบมาเฉพาะสำหรับสภาพการจราจรในจีน | ไม่สอดคล้องกับมาตรฐานสากลบางประการ |
การพัฒนามาตรฐาน
- NEDC (New European Driving Cycle): เริ่มใช้ในยุโรปตั้งแต่ปี 1980 โดยใช้จำลองการขับขี่ในเมืองและนอกเมือง มาตรฐานนี้มีการทดสอบที่ความเร็วต่ำถึงปานกลาง โดยเฉพาะการวิ่งในเมือง ทำให้ผลการทดสอบประเมินระยะทางที่รถสามารถวิ่งได้สูงกว่าการใช้งานจริง ซึ่งนำไปสู่การเลิกใช้งานในยุโรปในปี 2017 (ตามคำสั่งDIR 2017/1151/EU)
- WLTP (Worldwide Harmonized Light Vehicle Test Procedure): พัฒนาขึ้นเพื่อแทนที่ NEDC โดยเริ่มใช้ในยุโรปปี 2017 มาตรฐานนี้ใช้การจำลองการขับขี่ในเงื่อนไขต่างๆ ทั้งในเมือง นอกเมือง และบนทางหลวงที่ความเร็วต่างๆ ทำให้การทดสอบสะท้อนถึงการใช้งานจริงมากขึ้น
- EPA (Environmental Protection Agency): มาตรฐานจากสหรัฐฯ ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 1970s และมีการปรับปรุงมาตรฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในช่วงหลัง มาตรฐานนี้ถือเป็นมาตรฐานที่เข้มงวดและสะท้อนการใช้งานจริงในสภาพถนนอเมริกามากที่สุด แต่ระยะทางที่ประเมินได้มักจะต่ำกว่ามาตรฐานอื่นๆ
- CLTC (China Light-Duty Vehicle Test Cycle): เริ่มใช้ในประเทศจีนปี 2021 โดยมุ่งเน้นการจำลองการขับขี่ที่สอดคล้องกับการจราจรในเมืองของจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การทดสอบนี้เน้นการขับขี่ในเมืองที่ความเร็วต่ำถึงปานกลาง ทำให้ผลลัพธ์คล้ายกับ NEDC แต่ปรับให้เหมาะสมกับสภาพจราจรในจีนมากขึ้น
เจคู เป็นค่ายรถตัวอย่างที่แสดงข้อมูล ระยะทางวิ่งในเว็บตัวเองไว้ทั้ง 2 มาตรฐานทำให้ข้อมูลชัดเจนมากสำหรับผู้บริโภค“ความแตกต่างระหว่างมาตรฐานนี้น่าสนใจตรงที่ใครจะรับนำเสนอความเป็นจริง และสท้อนความจริงใจในการทำตลาดกับผู้บริโภคมากกว่ากัน”
- NEDC ให้ผลการทดสอบที่ไม่สะท้อนการใช้งานจริงมากนัก และโดยทั่วไประยะการวิ่งที่ได้จากมาตรฐานนี้จะสูงกว่าความเป็นจริงมากซึ่งย้ำว่า เป็นมาตรฐานที่ยุโรปเลิกใช้งาน มาตั้งแต่ปีพ.ศ.2560(2017) หรือ 7ปีมาแล้วอย่างไรก็ตามในไทยยังมีอิงมาตรฐานของ NEDC เผยแพร่ในโบชัวร์เกือบทุกยี่ห้อ
- WLTP แสดงให้เห็นระยะการวิ่งที่ใกล้เคียงกับการใช้งานจริงมากกว่า NEDC โดยมีการทดสอบที่สภาพการขับขี่ที่หลากหลาย
- EPA มีความเข้มงวดในการทดสอบและสะท้อนการใช้งานจริงได้อย่างดีในสหรัฐอเมริกา แต่ระยะการวิ่งที่ทดสอบได้มักจะน้อยกว่ามาตรฐานอื่นๆ
- CLTC เน้นไปที่การทดสอบในสภาพการขับขี่ในเมืองของจีน โดยมุ่งเน้นที่การจำลองสภาพการจราจรที่หนาแน่นและความเร็วต่ำ
โบชัวร์อย่างเป็นทางการโดยBYD(เรเว่ฯ)อิงมาตรฐาน NEDC ซึ่งเป็นมาตรฐานที่ยุโรปประกาศเลิกการใช้งานไปแล้ว
BYD จำหน่ายในยุโรปแสดงข้อมูลระยะทางวิ่งในเว็บ เป็นมาตรฐาน WLTP ซึ่งแตกต่างไปจากมาตรฐานที่แสดงในตลาดไทย
การเปลี่ยนแปลงการทดสอบWLTPเทียบNEDC
WLTP นั้นนำเสนอเงื่อนไขการทดสอบที่สมจริงมากขึ้น เช่น:
-พฤติกรรมการขับขี่ที่สมจริงยิ่งขึ้น
-สถานการณ์การขับขี่ที่หลากหลายมากขึ้น (ในเมือง, ชานเมือง, ถนนสายหลัก, ทางด่วน);
-ระยะทดสอบที่ยาวขึ้น
-อุณหภูมิโดยรอบที่สมจริงยิ่งขึ้น ใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของยุโรป
-ความเร็วเฉลี่ยและความเร็วสูงสุดสูงขึ้น
-กำลังขับเฉลี่ยและสูงสุดสูงกว่า
-การเร่งความเร็วและการชะลอความเร็วที่เป็นแบบไดนามิกและเป็นตัวแทนมากขึ้น
-หยุดสั้นลง
-อุปกรณ์เสริม: มีการระบุค่า CO2 และอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงสำหรับยานพาหนะแต่ละคันเมื่อสร้างเงื่อนไขการตั้งค่าและการวัดรถที่เข้มงวดยิ่งขึ้น
-ช่วยให้สามารถทราบค่าที่ดีที่สุดและแย่ที่สุด สะท้อนถึงตัวเลือกที่มีให้สำหรับรุ่นรถที่คล้ายกัน
สำหรับการคำนวณอัตราการสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงและการปล่อยมลพิษของรถยนต์ การปรับปรุงทั้งหมดนี้ทำให้ WLTP มีพื้นฐานที่แม่นยำ ซึ่งจะทำให้การวัดในห้องแล็ปสะท้อนถึงประสิทธิภาพบนท้องถนนของรถยนต์ได้ดีขึ้น ดังนั้นประเทศเราควรจะอิงกับมาตรฐานที่เป็นสากลและทันสมัยที่สุดที่สำคัญควรมีมาตรฐานเดียว เพื่อข้อมูลที่เป็นธรรมสำหรับทุกฝ่าย
การทดสอบระยะทางของรถ EV ความต่างที่มีข้อสรุป
เมื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ทั่วไป ตัวเลขที่คำนวณตามมาตรฐาน EPA (สหรัฐอเมริกา) ถือเป็นตัวเลขที่สมจริงที่สุดสำหรับการวัดระยะทางวิ่งของรถยนต์ไฟฟ้า ความแตกต่างระหว่างตัวเลขของ EPA กับการใช้งานจริงในชีวิตประจำวันมีเพียงไม่กี่เปอร์เซ็นต์ ซึ่งทำให้ EPA ได้รับการยอมรับในด้านความแม่นยำ อย่างไรก็ตาม เมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานอื่น ๆ เช่น WLTP (มาตรฐานยุโรปใหม่) พบว่าตัวเลขของ WLTP มักจะสูงกว่า EPA ประมาณ 22% ในขณะที่ CLTC (มาตรฐานจีน) สูงกว่า EPA ถึง 35% ซึ่ง CLTC ยังมีระยะทางที่สูงกว่า NEDC (มาตรฐานยุโรปเก่า) อีกเล็กน้อย
ปัจจุบันในประเทศไทย การประเมินระยะทางของรถยนต์ไฟฟ้ายังคงอิงกับ NEDC ซึ่งเป็นมาตรฐานยุโรปเก่าที่ถูกยกเลิกไปแล้วในหลายประเทศ โดยเฉพาะในยุโรปที่หันไปใช้ WLTP แทน การที่ประเทศไทยยังคงใช้ NEDC เป็นเกณฑ์มาตรฐานสำหรับการแสดงข้อมูลใน “อีโค สติกเกอร์” ซึ่งเป็นเครื่องหมายรับรองที่ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม อาจสร้างความสับสนว่าทำไมถึงยังเลือกใช้มาตรฐานที่ถูกยกเลิก
“ในยุโรป XPENG ค่ายรถยนต์ไฟฟ้าเคยแสดงท่าทีว่าจะใช้ WLTP เป็นมาตรฐานทั้งหมดทั่วโลก แต่ในไทยยังคงใช้มาตรฐานที่ยุโรปยกเลิกไปแล้ว มาอ้างอิง “
มาตรฐานในประเทศไทยมักจะอิงกับยุโรปเป็นหลัก โดยเฉพาะในด้านความปลอดภัยและการปล่อยมลพิษจากท่อไอเสีย ดังนั้น มาตรฐาน WLTP จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงการวัดการใช้พลังงานไฟฟ้า (Electric Energy Consumption) อย่างไรก็ตาม สำหรับรถยนต์ไฟฟ้าในประเทศไทยยังคงมีการใช้มาตรฐานที่แตกต่างกันไปตามแหล่งผลิต รถจากยุโรปส่วนใหญ่ใช้ WLTP ในขณะที่รถจากจีนส่วนใหญ่ยังใช้ NEDC ซึ่งยกเว้นแบรนด์อย่าง Omoda & JAECOO ที่เผยแพร่ข้อมูลทั้งสองมาตรฐาน ซึ่งเป็นแนวทางที่ดีในการให้ข้อมูลที่ครบถ้วนแก่ผู้บริโภค
การเปลี่ยนไปใช้มาตรฐานที่แม่นยำกว่า เช่น WLTP อาจช่วยให้ผู้บริโภคไทยได้รับข้อมูลที่สอดคล้องกับการใช้งานจริงมากขึ้น และลดความสับสนที่เกิดขึ้นจากมาตรฐานที่หลากหลาย