เปิดปม มหกรรมยานยนต์ปิดฉาก พลาดเป้า 20.79% ทำได้เพียง 39,125 คัน เหตุผู้ค้าปฏิเสธรับจองรถภาษีเดิม
“มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32” ปิดฉากวันสุดท้ายไปเมื่อ13 ธ.ค.2558 พบว่า มียอดจองรถยนต์ 39,125 คัน รถจักรยานยนต์ 5,749 คัน ผู้ชมงาน 1,476,936 คน โตโยตา รักษาแชมป์ ตามด้วย ฮอนด้า และมาสด้า อัดฉีดเม็ดเงินสะพัดสู่ระบบเศรษฐกิจกว่า 50,000 ล้านบาท
นายขวัญชัย ปภัสร์พงษ์ ประธานจัดงาน “มหกรรมยานยนต์ ครั้งที่ 32” เปิดเผยว่า งานปีนี้ มียอดจองรถยนต์ภายในงานรวม 39,125 คัน ลดลงกว่าปีก่อน 7.4% (ปี 2557 มียอดจองรวม 42,254 คัน) ส่วนยอดจองรถจักรยานยนต์ 5,749 คัน เป็นอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อน 111.5% (ปี 2557 มียอดจองรวม 2,718 คัน) สร้างเม็ดเงินหมุนเวียนภายในงานประมาณ 50,000 ล้านบาท”
เปิด5ค่ายรถทำยอดจองสูง
สำหรับยอดจองรถยนต์รวม 39,125 คัน ก่อนหน้านี้ ผู้จัดตั้งเป้ายอดจองรถยนต์ในงานไว้ที่ 50,000 คัน ซึ่งยอดที่ทำได้ ในปีนี้ถือว่า ต่ำกว่าเป้าหมาย เป้า20.79% ค่ายรถยนต์ที่มียอดจองสูงสุด 5 อันดับ ได้แก่
อันดับ1 โตโยตา 5,975 คัน
อันดับ2 ฮอนดา 4,864 คัน
อันดับ3 มาซดา 4,542 คัน
อันดับ4 อีซูซุ 4,348 คัน
อันดับ5 มิตซูบิชิ 3,617 คัน
รถยอดนิยม5ลำดับแรก
รถที่ะมียอดจองสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่
1) ฮอนดา ซิตี้
2)มาสด้า 2
3) มิตซูบิชิ ปาเจโร สปอร์ต
4) ฟอร์ด เรนเจอร์
5) อีซูซุ ดี-แมกซ์
บิ๊กไบค์5ลำดับยอดนิยม
สำหรับรถจักรยานยนต์ ได้รับความสนใจจากผู้เข้าชมงานเป็นพิเศษ มียอดจองรวม 5,749 คัน สูงกว่าปีที่แล้วถึง 111.5%
อันดับ1 ยามาฮา 1,323 คัน
อันดับ2 จีพีเอกซ์ 775 คัน
อันดับ3 คาวาซากิ 738 คัน
ยอดรถบิ๊กไบค์พุ่ง48%
ส่วนรถจักรยานยนต์ (บิ๊กไบค์) ตั้งเป้าไว้ที่ 3,000 คัน จากปีที่เเล้วมียอดจอง 2,700 คัน ทำให้ปีนี้ยอดบิ๊กไบค์ สามารถทำได้สูงกว่าเป้าหมาย 47.81%
ผู้ชุมเพิ่ม6.7%
ส่วนจำนวนผู้เข้าชมงานปีนี้สูงถึง 1,476,936 คน เพิ่มขึ้น 6.7% จากปีก่อนที่มีผู้ชม 1,384,182 คน ด้านราคาเฉลี่ยรถที่ขายได้ในงาน 1,146,351 บาท ใกล้เคียงกับปีก่อนเฉลี่ยอยู่ที่ 1,141,896 บาท ปีนี้ผู้บริโภคให้ความสนใจกับรถเอสยูวี และรถกระบะ เพิ่มมากขึ้น
ค่ายรถกั๊กไม่ยืนราคารับจอง
แหล่งข่าวจากวงการค้ารถยนต์เปิดเผยว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้ยอดจองในงานไม่มากตามเป้าหมายที่วางไว้ แม้ว่าในช่วงก่อนงานจะมีการโหมแคมเปญเรื่องซื้อรถก่อนราคาใหม่ และหลายฝ่ายเชื่อว่า เป็นปัจจัยบวกที่จะทำให้ยอดจองรถในงานถล่มทลาย และในงานมหกรรมยานยนต์กระแสนี้ก็จุดติด โดยสามารถดึงดูดใจ ให้ลูกค้าเร่งซื้อรถได้แต่ในความเป็นจริงพบว่า เซลส์ของค่ายรถหลายค่าย ปฎิเสธที่จะรับจองรถในราคาเดิมก่อนปรับภาษีโดยอ้างว่า โควต้าภาษีเก่าหมดสต็อค ส่วนรถราคาใหม่ก็ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะราคาเพิ่มเท่าไร รวมถึงบางรุ่นยอดนิยมก็ไม่ระบุวันส่งมอบให้ลูกค้า ทำให้ลูกค้าแม้อยากจะได้รถก็ไม่สามารถสั่งซื้อได้