คาดตลาดรถไทย ปี66 ปิดยอด 9แสนคัน ในขณะที่ต่อยอดแผนระยะกลางเดินหน้าRetention Business Modelเป็นปีที่สองต่อเนื่อง
กรุงเทพฯ – 5 เม.ย.66 – มาสด้า เซลส์ ประเทศไทย จัดงานแถลงข่าวอย่างเป็นทางการเพื่อ ประกาศแนวทางธุรกิจปี 2566 มุ่งมั่นสู่การเติบโตแบบยั่งยืน พร้อมยกระดับประสบการณ์ลูกค้า โดยให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างแบรนด์และบริการหลังการขาย ตามกลยุทธ์ Retention Business Model ตั้งเป้าเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งที่ลูกค้าเลือก Top Customer Retention Brand และเป็นอันดับหนึ่งด้านการบริการ Top Service Retention เพื่อส่งมอบรอยยิ้มและความสุขให้กับลูกค้า สร้างความสำเร็จให้ผู้จำหน่าย และเติบโตอย่างยั่งยืนตลอดไป
ต่อยอดแผนธุรกิจยั่งยืน
ทาดาชิ มิอุระ ประธานบริหารมาสด้า เซลส์ ประเทศไทย ซึ่งเข้ามาดำรงตำแหน่งครบหนึ่งปีเต็ม กล่าวว่า มาสด้าขอขอบคุณลูกค้าชาวไทยเป็นอย่างสูงที่ไว้วางใจในผลิตภัณฑ์และสนับสนุนมาสด้าเป็นอย่างดี นับตั้งแต่ปี 2565 ที่ผ่านมา มาสด้ากำหนดแนวทางในดำเนินธุรกิจใหม่เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนภายใต้โมเดลธุรกิจ Retention Business Model สร้างประสบการณ์ที่ดีที่สุดให้กับลูกค้าในทุก Touchpoints ส่งมอบการบริการที่เป็นเลิศแบบครบวงจร ตั้งแต่ก่อนการขายจนถึงการบริการหลังการขาย ให้ความสำคัญสูงสุดกับการสร้างคุณค่าแบรนด์และสร้างความผูกพันกับลูกค้าในระยะยาว นับเป็นนโยบายสำคัญที่มาสด้ายึดถือเป็นแนวทางปฏิบัติ และส่งมอบให้กับลูกค้าในประเทศไทยและทั่วโลก โดยในปีที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากลูกค้าและแฟนมาสด้า รวมถึงผู้จำหน่ายด้วยเช่นกัน
ตัวเลขลูกค้าซื้อซ้ำเพิ่มขึ้น15%
สำหรับปีงบประมาณ 2565 ที่ผ่านมา เรียกได้ว่ามาสด้าประสบความสำเร็จจากการนำ Rentention Business Model มาใช้ โดยเฉพาะในด้านของการกลับมาเข้ารับบริการของลูกค้า (Service Retention) ที่เพิ่มขึ้นจาก 72% ในปีงบประมาณ 2561 เป็น 85% ในปีงบประมาณ 2565 พร้อมกับมีอัตราการกลับมาซื้อซ้ำของลูกค้า (Repurchase) เพิ่มสูงขึ้นจาก 15% ในปีงบประมาณ 2561 เป็น 30% ในปีงบประมาณ 2565 หรือเพิ่มขึ้น 100% ซึ่งเป็นไปตามแผนที่มาสด้าวางไว้ นอกจากนี้ การแผนการพัฒนาธุรกิจรถมือสองคุณภาพดี Mazda CPO ก็ดำเนินไปได้ด้วยดี ส่งผลให้ราคารถยนต์มือสอง (Residual Value) มีราคาขายต่อสูงขึ้น เช่น มาสด้า2 อายุ 6 ปี มีมูลค่าการขายต่อเพิ่มขึ้นเป็น 55%
ภาพรวมตลาดรถไทยโตตามเศรษฐกิจ
นายมิอุระ แสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับอุตสาหกรรมยานยนต์ในปีงบประมาณ 2566 ว่า ภาพรวมปี 2566 เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้นจากปี 2565 คาดว่าตัวเลข GDP จะโตอยู่ในช่วง 3.3%-3.7% ซึ่งได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวด้านการอุปโภคบริโภคของภาคเอกชน การฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว ภาคการเกษตรและการส่งออก ทำให้เกิดการใช้จ่ายหมุนเวียนสู่ระบบเศรษฐกิจมากขึ้น อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าภาพรวมอุตสาหกรรมรถยนต์จะเติบโตขึ้นเล็กน้อยประมาณ 5% ยอดรวมน่าจะอยู่ที่ประมาณ 900,000 คัน ในขณะที่มาสด้าได้ตั้งเป้าส่วนแบ่งการตลาดประมาณ 3.5% จากแผนแนะนำ รถยนต์รุ่นใหม่เข้ามาเสริมตลาด
อีกหนึ่งความสำเร็จ คือ รถยนต์ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟที่มาสด้ามุ่งมั่นพัฒนาจนได้รถยนต์ที่ให้ทั้งความแรงและประหยัดน้ำมัน เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม แต่ยังคงความสนุกสนานในการขับขี่อันเป็นเอกลักษณ์ พร้อมทั้งใช้แนวทางการออกแบบ KODO-Soul of Motion ในการสร้างความโดดเด่นให้กับตัวรถ โดยมาสด้าเริ่มจำหน่ายรถยนต์ภายใต้เทคโนโลยีสกายแอคทีฟรุ่นแรกในประเทศไทย เมื่อเดือนพ.ย.2556 และประสบความสำเร็จอย่างท่วมท้น จนถึงปัจจุบันอยู่ในการครอบครองของลูกค้าแล้วมากกว่า 360,000 คัน
เปิดสถิติยอดขายสะสมมาสด้า
โดยมาสด้า2 ยังคงครองความนิยมในตลาดรถยนต์นั่งขนาดเล็ก ด้วยจำนวน 224,000 คัน มาสด้า3 จำนวน 42,000 คัน ครอสโอเวอร์เอสยูวี มาสด้า CX-3 จำนวน 30,000 คัน มาสด้า CX-30 จำนวน 20,000 คัน มาสด้า CX-5 จำนวน 35,000 คัน มาสด้า CX-8 จำนวน 6,000 คัน รถสปอร์ตโรดสเตอร์เปิดประทุน มาสด้า MX-5 จำนวน 150 คัน และรถปิกอัพ มาสด้า BT-50 อีกจำนวน 3,000 คัน
ดันมาสด้า แบรนด์ที่ลูกค้าเลือก
นายธีร์ เพิ่มพงศ์พันธ์ รองประธานบริหารอาวุโส บริษัท มาสด้า เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด เปิดเผยว่า ในปี 2566 มาสด้ายังคงเดินหน้าตามแผนการดำเนินธุรกิจ Retention Business Model ซึ่งเป็นกลยุทธ์ใหม่ที่ประกาศไปเมื่อปี2565 แต่เพิ่มเติมเป้าหมายใหม่ที่ท้าทายยิ่งขึ้น โดยการเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งด้าน Customer Retention ต้องเป็นแบรนด์ที่ลูกค้าเลือก คือ Top Retention Brand ให้บริการที่ลูกค้าพึงพอใจ Top Service Retention รวมถึงรักษาส่วนแบ่งการตลาดในแต่ละพื้นที่ Maintain Market Share นำเสนอคุณค่าของแบรนด์ผ่านประสบการณ์และความพึงพอใจสูงสุดของลูกค้าเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมาแต่ครอบคลุมรอบด้านมากยิ่งขึ้น
“กลยุทธ์นี้เป็นส่วนหนึ่งที่เรามุ่งมั่นเพื่อเดินหน้าตามแผนงานระยะกลาง Mid-Term Management Plan ให้ความสำคัญกับการสร้างมูลค่าแบรนด์ (Brand Value Management) ก้าวสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคต ด้วย แนวทางในการสร้างแบรนด์มาสด้าให้แข็งแกร่ง เพื่อมุ่งสู่การเป็นแบรนด์อันดับหนึ่งในด้าน Customer Retention และ Service Retention เพื่อแทนคำมั่นสัญญาว่ามาสด้าจะเป็นแบรนด์ที่มอบความสุขและสร้างรอยยิ้มให้กับลูกค้า แทนคำขอบคุณที่ลูกค้าไว้วางใจและเลือกใช้รถมาสด้าให้เป็นรถคู่ใจไปตลอดการเดินทาง”นายธีร์กล่าว
สำหรับมาสด้า รายงานยอดการจำหน่ายจากตัวเลขการแลกเปลี่ยนของอุตสาหกรรมระบุว่าในปี2565 (ม.ค.-ธ.ค.65 ) มาสด้า ในตลาดรถรวมมาสด้าครองส่วนแบ่งตลาด 3.7% เป็นลำดับที่8 ของตลาด โดยมียอดขายทั้งสิ้น31,638 เติบโตลดลง10.6% เทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีที่แล้ว ในส่วนของตลาดรถยนต์นั่งมาสด้า มียอดขายปีที่แล้วรวม17,810คัน และครองส่วนแบ่งการตลาด 6.7%
ในขณะที่ตลาดรถยนต์รวมของไทย ปี2565ที่ผ่านมาพบว่า มีปริมาณการขายรถยนต์รวม 849,388 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น +11.9% โดยแบ่งเป็น รถยนต์นั่ง 265,069 คันเติบโตเพิ่มขึ้น+5.3% , รถเพื่อการพาณิชย์ 584,319 คัน เติบโต15.2% รถกระบะ 1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)มียอดขาย 454,875 คัน เติบโต 5.6%และ รถกระบะ 1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง)มียอดขาย388,298 คัน เติบโตเพิ่มขึ้น13.7% ทั้งนี้อุตสาหกรรมคาดว่า ยอดขายปี2566 ตลาดรถรวมของไทย จำมียอดขาย 9 แสนคัน