“ฮอนด้า”เปิดสนามทดสอบในไทย เพิ่มศักยภาพการวิจัยและพัฒนาในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย
ปราจีนบุรี (20 ก.ค. 2560) – ฮอนด้าเป็นผู้ผลิตยานยนต์รายแรกที่เปิดหน่วยงานวิจัยและพัฒนา(R&D) ขึ้นในประเทศไทย โดยเริ่มต้นจากการก่อตั้งหน่วยงานวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ ขึ้นในปี พ.ศ. 2531 ต่อมาจึงได้ก่อตั้งหน่วยงานวิจัยด้านรถยนต์ในประเทศไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2537 เพื่อพัฒนาและจัดหาชิ้นส่วนภายในประเทศและสนับสนุนการดำเนินงานด้านการผลิตรถยนต์อีกด้วย ต่อมาได้ขยายบทบาทเพิ่มขึ้นทั้งด้านการวางแผนผลิตภัณฑ์และการควบคุมคุณภาพ
ในปี พ.ศ. 2548 หน่วยงานวิจัยด้านรถยนต์ของฮอนด้าได้จดทะเบียนนิติบุคคลในชื่อ บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (HRAP) โดยปัจจุบันรับผิดชอบดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนารถยนต์ที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ล่าสุด บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด (หรือ HRAP) จัดพิธีเปิดสนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี อย่างเป็นทางการ ณ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดปราจีนบุรี
โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ร่วมด้วย นายชิโร ซะโดะชิมะ เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย นาย ชินจิ อาโอยามะ ประธานเจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) และประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด นาย โยชิฮารุ อิตาอิ กรรมการผู้จัดการและผู้แทนกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี จำกัด นาย ฮิเดโอะ โคมูระ ประธานบริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค จำกัด และพนักงานกลุ่มบริษัทฮอนด้า ร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิด
เท 1700 ล้านลงไทยเปิดสนามประเทศที่3
สนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี เป็นสนามทดสอบแบบครบวงจรที่มีเอกลักษณ์ และได้รับการออกแบบมาสำหรับภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียโดยเฉพาะ ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท สำหรับการก่อสร้างสนามทดสอบ ที่ประกอบด้วย 8 สนาม บนพื้นที่กว่า 500 ไร่ (หรือประมาณ 800,000 ตร.ม.) โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่ 3 ที่มีสนามทดสอบของฮอนด้า ต่อจากประเทศญี่ปุ่น และประเทศสหรัฐอเมริกา
วิจัยทั้งสองล้อสี่ล้อ
สนามทดสอบแห่งใหม่นี้ ใช้สำหรับการทดสอบรถยนต์ และรถจักรยานยนต์ โดยจะมีการทดสอบในหลายรูปแบบ เช่น การควบคุมรถ การทรงตัว และสมรรถนะโดยรวม เพื่อนำผลทดสอบไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่จะจำหน่ายในภูมิภาคนี้ สนามทดสอบแห่งใหม่นี้ จึงมีส่วนสำคัญในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันของผลิตภัณฑ์ฮอนด้าในประเทศไทย และในตลาดเอเชียและโอเชียเนีย ในอนาคต ทางฮอนด้ายังมีแผนที่จะนำยานยนต์จากภูมิภาคอื่นมาทดสอบที่นี่ด้วยเช่นกัน
เทงานวิจัยลงไทย
นาย ชินจิ อาโอยามะ ประธานเจ้าหน้าที่ส่วนปฏิบัติการภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย บริษัท ฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด (ประเทศญี่ปุ่น) และประธานกรรมการบริหารและซีอีโอ บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการผลิตและส่งออกของฮอนด้าในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนียมาโดยตลอด และยังเป็นฐานสำคัญในการดำเนินงานด้านการวิจัยและพัฒนาด้วย ซึ่งสนามทดสอบปราจีนบุรีแห่งนี้ จะช่วยสร้างความแข็งแกร่งให้กับผลิตภัณฑ์ฮอนด้า ด้วยการเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน และการพัฒนายานยนต์ที่มีดีไซน์ที่โดดเด่น เกินความคาดหวังของลูกค้าทั้งในประเทศไทย และในภูมิภาคนี้
นาย โยชิฮารุ อิตาอิ กรรมการผู้จัดการและผู้แทนกรรมการบริหาร บริษัท ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี จำกัด กล่าวว่า “ถนนในสนามทดสอบของฮอนด้า ได้รับการออกแบบขึ้นโดยการจำลองสภาพถนนในรูปแบบต่างๆ เราเชื่อว่า ข้อมูลที่ได้จากการทดสอบผลิตภัณฑ์ ณ สนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี แห่งนี้ จะมีส่วนช่วยให้เราพัฒนาผลิตภัณฑ์ฮอนด้า ที่สามารถส่งมอบความสุขให้กับลูกค้าได้ ทั้งยังทำให้ลูกค้ารู้สึกถึงความสนุกในทุกการขับขี่อย่างแท้จริง”
เจาะรายละเอียด’ko R&D
สนามทดสอบ ฮอนด้า อาร์แอนด์ดี เอเชีย แปซิฟิค ปราจีนบุรี แห่งนี้ ประกอบด้วยสนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนและลักษณะภูมิประเทศในรูปแบบต่างๆ 8 สนาม โดยความยาวรวมประมาณ 8 กิโลเมตร ซึ่งแบ่งเป็นสนามทดสอบรูปแบบต่างๆ ดังนี้
1) สนามทดสอบรูปวงรี (Oval Course):
สนามทดสอบรูปวงรีความยาว 2.18 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะของรถยนต์ในขณะขับด้วยความเร็วสูง รวมถึงการทดสอบอื่นๆ เช่น ระดับเสียงของลมที่เข้ามาในห้องผู้โดยสาร และการควบคุมพวงมาลัย
2) สนามทดสอบทางโค้ง (Winding Course):
สนามทดสอบทางโค้งความยาว 1.38 กิโลเมตร ใช้ทดสอบสมรรถนะโดยทั่วไป รวมถึง การทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรก และการควบคุมการทรงตัวขณะเข้าโค้ง สนามทดสอบทางโค้งนี้มีการจำลองถนนที่มีการขึ้น-ลง และถนนที่มีมุมอับสายตา รวมมีทางโค้งทั้งหมด 17 โค้ง
3) สนามทดสอบไดนามิกส์ (Vehicle Dynamics Area):
สนามทดสอบที่เชื่อมต่อกับสนามทดสอบรูปวงรี ใช้ทดสอบการควบคุมการทรงตัวของรถ ขณะขับขี่ด้วยความเร็วสูง และทดสอบประสิทธิภาพของการเบรก ขณะเข้าทางโค้งแบบหักศอก
4) สนามทดสอบที่มีน้ำท่วมขัง (Wet Course):
สนามทดสอบที่จำลองสภาพถนนที่เปียกและลื่น ใช้ทดสอบผลกระทบของน้ำท่วมขังที่มีต่อสมรรถนะของรถยนต์ ประกอบด้วย Pool Road, Splash Road, Wet Brake Road โดยสนามนี้สามารถปรับระดับความลึกของน้ำได้ตั้งแต่ 0-1,000 มิลลิเมตร เพื่อจำลองสถานการณ์น้ำท่วม ที่อาจเกิดขึ้นได้บ่อยในทวีปเอเชีย โดยเป็นการทดสอบการกันน้ำและผลกระทบต่อห้องเครื่องยนต์
5) สนามทดสอบสภาพพื้นผิวถนนในรูปแบบต่างๆ (Ride Road Course):
สนามทดสอบนี้จำลองสภาพพื้นผิวถนนของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียและโอเชียเนีย ใช้ทดสอบสมรรถนะทั่วไปบนพื้นผิวถนนที่แตกต่างกัน โดยมีถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนคอนกรีต (Concrete Highway) ถนนยางมะตอยที่มีพื้นผิวชำรุด (Noise Road) และถนนลาดเอียง (Camber Road)
6) สนามทดสอบที่มีพื้นผิวพิเศษ (Special Surface Courses):
สนามทดสอบนี้ได้รับการออกแบบและสร้างด้วยเทคโนโลยี 3 มิติ เพื่อจำลองพื้นผิวถนนที่ขรุขระ ใช้ทดสอบความทนทานของช่วงล่างรถยนต์ โดยมีพื้นผิวถนนลักษณะต่างๆ ถึง 8 รูปแบบด้วยกัน อาทิ ถนนที่จำลองลูกระนาด (Speed Breaker) และถนนคอนกรีตที่มีพื้นผิวขรุขระ (Concrete Rough Road)
7) สนามทดสอบทางลาดชัน (Slope Course):
สนามทดสอบทางลาดชัน ใช้ทดสอบความแข็งแกร่งของเครื่องยนต์ และประสิทธิภาพของระบบเบรก
8) สนามทดสอบทางตรง (Straight Course):
สนามทดสอบทางตรงความยาว 1.2 กิโลเมตร ใช้ทดสอบอัตราการประหยัดน้ำมัน และอัตราการเร่งความเร็วหลังจากออกตัว สนามทดสอบแห่งนี้ยังมีพื้นที่สนามหญ้า ซึ่งในอนาคตมีแผนที่จะใช้ทดสอบผลิตภัณฑ์ดูแลสนามหญ้าของฮอนด้าอีกด้วยสนามทดสอบปราจีนบุรีแห่งนี้ จะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์ฮอนด้า เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันในอนาคต
[fblike]