เตรียมตัวติดตั้งโฮมชาร์จเจอร์ อย่างไร
“รถยนต์ไฟฟ้า”นั้นผู้ใช้งานสามารถชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าได้ทั้งจากบ้านของตนเอง หรือสถานีชาร์จก็ได้ แล้วแต่ความสะดวกของแต่ละคน แต่อย่างไรก็ตาม เรื่องมาตรฐานความปลอดภัย ในการติดตั้งแท่นชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการเลือกรถยนต์ไฟฟ้าให้ถูกใจตามการใช้งาน
นายกิตติพงษ์ วีระโพธิ์ประสิทธิ์ อุปนายกสภาวิศวกร คนที่ 1 และผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมไฟฟ้า แนะนำว่า แท่นชาร์จรถแบบใดที่เหมาะกับรถของเราโดยต้องรู้จักการชาร์จไฟของรถยนต์ไฟฟ้าเสียก่อน
การชาร์จไฟเข้ายานยนต์ไฟฟ้ามีทั้งหมด 4 แบบ โดยต้องเลือกตามความเหมาะสมของยานยนต์
โหมดที่ 1 เป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์เข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐานซึ่งเป็นไฟฟ้ากระแสสลับ(AC) โดยไม่มีการใช้อุปกรณ์ควบคุมการอัดประจุไฟฟ้าใดๆ และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 16 แอมป์
โหมดที่ 2 เป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเต้ารับมาตรฐาน(AC) โดยมีการใช้อุปกรณ์ควบคุมและป้องกันในสาย หรือ In-cable control and protection device: IC-CPD และมีพิกัดกระแสไฟฟ้าไม่เกิน 32 แอมป์ โดยสามารถเสียบชาร์จรถยนต์ภายในบ้านใช้เวลาประมาณ 1 คืน
โหมดที่ 3 เป็นการเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสสลับ(AC) ที่ใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยการชาร์จในโหมดนี้ใช้เวลาประมาณ 4 – 5 ชั่วโมง
โหมดที่ 4 การเชื่อมต่อไฟฟ้าของยานยนต์ไฟฟ้าเข้ากับระบบไฟฟ้าผ่านเครื่องอัดประจุไฟฟ้าชนิดกระแสตรง(DC) ที่ใช้จ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับยานยนต์ไฟฟ้าโดยเฉพาะ โดยโหมดนี้ใช้เวลาชาร์จน้อยที่สุด และมักพบเจอได้ตามสถานีชาร์จนั่นเอง
การติดตั้งแท่นชาร์จทั้งทีต้องคำนึงถึงอะไรบ้าง
สิ่งที่ต้องตระหนักมากๆ เป็นอย่างแรก คือ รถยนต์ไฟฟ้าไม่ควรเสียบกับเต้ารับปกติภายในบ้าน ไม่อย่างนั้นอาจเสี่ยงเพลิงไหม้โดยไม่รู้ตัว เพราะระบบไฟฟ้าในบ้านไม่ได้ออกแบบมาเพื่อรองรับการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า สิ่งที่ควรทำคือหา แท่นชาร์จแยกที่เหมาะสมกับประเภทของรถยนต์ รวมถึงมีการจดแจ้งมิเตอร์ควรแยกจากระบบไฟฟ้าที่จ่ายให้กับตัวบ้านต่างหาก
เนื่องจากกระแสไฟที่ใช้และราคาค่ากระแสไฟฟ้า อาจมีความแตกต่างกับไฟบ้าน และอุปกรณ์ไฟฟ้าจำพวกนี้เป็นอุปกรณ์ที่มีพิกัดกระแสไฟฟ้าสูง ถัดมา คือ อย่าลืมติดตั้งเครื่องป้องกันไฟดูด ที่ป้องกันได้ทั้งไฟฟ้ากระแสตรงและไฟฟ้ากระแสสลับ (RCD Type B) เพื่อลดความเสี่ยงจากการเกิดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิด
ดังนั้น การติดตั้งแท่นชาร์จ และเดินวงจรสายไฟฟ้าต้องดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ซึ่งส่วนนี้สามารถติดต่อกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้โดยตรง และสุดท้ายผู้ใช้งานต้องหมั่นตรวจเช็ค บำรุงรักษาสภาพอุปกรณ์ให้สมบูรณ์และพร้อมใช้งานตลอดเวลา อีกทั้งควรให้ช่างผู้ที่มีความชำนาญการเข้าทำการตรวจสอบสภาพ และบำรุงรักษาตามมาตรฐานเพื่อความปลอดภัยในทุกๆ ปี
ภาครัฐมีนโยบายที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนที่สำคัญของโลก ทำให้ปัจจุบันทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องพยายามจูงใจให้ประชาชนเปลี่ยนมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยการออกมาตรการสนับสนุนต่างๆ อย่างเช่นคณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ ที่ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าตามนโยบาย 30@30 หรือการตั้งเป้าที่จะส่งเสริมให้ไทยผลิตรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี ค.ศ. 2030 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำได้ในอนาคต
ข้อมูลเพิ่มเติม เกี่ยวกับงานวิศวกรรมตลอดจนความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกร ได้ที่สายด่วน 1303 ไลน์ไอดี @coethai