ตลาดรถไทย ปี2566 ปิดยอดติดลบ9%ประเมินปี67 ตลาดรวม8แสนคันเพิ่ม3%
1 ก.พ.2567- กรุงเทพ รายงานข่าวจากบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด ผู้แทนจำหน่ายรถยนต์โตโยต้า ในฐานะผู้แทนค่ายรถ จัดแถลงทิศทางตลาดรถยนต์ไทยปี2567และ รายงานการขายรถยนต์ทุกประเภทประจำปี2566 โดยปี2566 ตลาดไทยมีทิสทางที่ชะลอตัวเห็นได้จากยอดจำหน่าย
ติดลบถึง 9% มียอดขายทุกยี่ห้อ รวม 775,780คัน ลดลง9% หรือ เมื่อเทียบกับปี2565
ปัจจัยลบฉุดตลาดติดลบ9%
รายงานระบุว่า ปี2566 ตลาดภายในประเทศ มีทิศทางชะลอตัว ในขณะที่ภาคการส่งออกรถยนต์โดยรวมมีการขยายตัวดีขึ้น ทั้งนี้ตลาดรวม โดยมีปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อทิศทางของตลาด จากสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ กำลังซื้อที่ชะลอตัว หนี้ครัวเรือนสูงขึ้น ตลอดจนการชะลอซื้อรถยนต์ของภาคธุรกิจเพื่อรอความชัดเจนจากมาตรการรัฐซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ ขณะเดียวกันสถาบันการเงินก็เพิ่มความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถและอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง
อย่างไรก็ตาม ในปีที่ผ่านมา ยังมีปัจจัยด้านบวกอื่นๆที่ส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมยานยนต์โดยรวม เช่น สัดส่วนการขายของตลาดรถยนต์นั่งในประเทศที่ขยายตัวได้ดีจากความนิยมรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ที่ได้อานิสงส์จากมาตรการสนับสนุนด้านราคาของภาครัฐ ตลอดจนตัวเลขการส่งออกรถยนต์ของไทยที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น จากสัดส่วนการผลิตเพื่อส่งออกในช่วงที่ผ่านมาเพื่อชดเชยการส่งมอบรถที่ล่าช้าจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนสำคัญจนทำให้การผลิตล่าช้าออกไป ในปีก่อนหน้านี้
กระบะทรุดตัวสูงสุด32%
สถิติการขายรถยนต์ในปี 2566 พบว่า หากเทียบยอดขายปี 2566 กับปีปี 2565พบว่า ปริมาณการขายรวม775,780คัน ลดลง-9% แบ่งเป็นตลาดรถยนต์นั่งจำนวน 292,505คัน เพิ่มขึ้น10%รถเพื่อการพาณิชย์ 483,275คัน ลดลง17% ตลาดรถกระบะ1 ตัน (รวมรถกระบะดัดแปลง)จำนวน325,024คันลดลง 29% ตลาดรถกระบะ1 ตัน (ไม่รวมรถกระบะดัดแปลง) จำนวน264,738คัน ลดลงมากสุด32% ทั้งนี้การชะลอตัวของรถกระบะ1 ตันสะท้อนให้เห็นถึง เศรษฐกิจที่มีผลกระทบระดับล่างผู้ประกอบการ ธุรกิจอิสระและธุรกิจที่เชื่อมโยงกับการขนส่งส่วนตัว
คาดตลาดเติบโต3%
รายงานระบุว่า แนวโน้มอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยในปี2567คาดว่าจะยังคงอยู่ในสภาวะฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปพร้อมๆกับการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดโดยมีปัจจัยรอบด้านที่จะส่งผลกระทบต่อภาพรวม อาทิ การเติบโตของการบริโภคภาคเอกชนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นนโยบายของภาครัฐที่จะสนับสนุนการใช้จ่ายให้เร่งตัวขึ้น การขยายตัวของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมภายในประเทศและโครงสร้างพื้นฐานรวมถึงการผลักดันมาตรการสนับสนุนการลงทุนผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าดูสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่จะส่งผลในด้านการส่งออก ตลอดจนสถานการณ์หนี้ครัวเรือนที่ยังคงสูง และทิศทางของนโยบายอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย ทำให้คาดการณ์ว่ายอดขายรถยนต์ในปี2567จะอยู่ที่8แสนคันหรือเพิ่มขึ้น3%เมื่อเทียบกับปี2566 โดยมีประมาณการยอดขายรถยนต์ในประเทศปี2567 แบ่งออกตามเช็กเมนท์ดังนี้ รถยนต์นั่ง จำนวน 296,500คัน คาดว่าจะเติบโต 1% รถเพื่อการพาณิชย์ จำนวน503,500คัน คาดว่าจะเติบโต 4%
ศูนยฺ์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า ปัจจุบันยอดขายรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV มีทิศทางปรับเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยในปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดว่าจะมีส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์รวมเพิ่มขึ้นไปสู่ 15% และ 16% ตามลำดับ ขณะที่หากพิจารณาเฉพาะกลุ่มรถยนต์นั่งยิ่งพบส่วนแบ่งที่สูงขึ้นถึงระดับ 28% และ 31% ตามลำดับ ส่วนรถปิกอัพแม้จะมีประเด็นเรื่องเทคโนโลยีและต้นทุน แต่ก็คาดว่าน่าจะเริ่มได้เห็นความก้าวหน้าที่ชัดเจนตั้งแต่ช่วงปีนี้เป็นต้นไป พอหันมาพิจารณาตลาดส่งออกหลักของไทย ก็พบว่าหลายตลาดนำเข้ารถยนต์ BEV และ HEV&PHEV ในสัดส่วนที่สูงขึ้นเช่นกัน โดยสูงกว่าค่าเฉลี่ยโลกซึ่งอยู่ที่ 15% ของการนำเข้ารถยนต์รวมทุกประเภท จึงเป็นโอกาสให้ไทยผลิตรถยนต์ BEV และ HEV&PHEV เพื่อส่งออกไปยังตลาดเหล่านี้ได้เพิ่มขึ้น เริ่มจากรถยนต์นั่งตามตลาดในประเทศ และพัฒนาสู่ปิกอัพต่อไปในอนาคต อาศัยจุดแข็งที่เป็นฐานผลิตปิกอัพเพื่อส่งออกระดับโลกอยู่เดิม
ในระยะยาว รถยนต์ BEV มีโอกาสเติบโตสูงขึ้นอีกมาก และน่าจะทำให้การผลิตรถยนต์ใช้น้ำมัน ซึ่งรวมถึง HEV&PHEV ด้วย มีแนวโน้มหดตัวลง โดยในปี 2573 คาดว่าอาจเหลือส่วนแบ่งเพียง 71% ลดลงจากที่คาดว่าจะมีส่วนแบ่ง 96% ในปี 2567 นี้ ซึ่งก็จะกระทบต่อไปยังมูลค่าชิ้นส่วนที่ใช้เฉพาะกับรถยนต์ใช้น้ำมันที่จะหดตัวด้วยอัตราเฉลี่ยที่ 1.7% ต่อปี จากในปี 2567 ที่ 287,700 ล้านบาท มาอยู่ที่ 252,060 ล้านบาทในปี 2573