Advertisements

    EGR ฆ่ามันดีไหม?

                    อย่าเข้าใจผิดครับห้ามเข้าใจไปว่าผมแนะนำให้ไปถอดยศถอดศักดิ์ของผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่กินเงินเดือนของหลวง แต่ผมหมายถึงเสียงพูดเสียงลือที่ว่าให้ถอดอีจีอาร์วาล์ว(EGR= Valve Exhaust Gas Recirculation Valve) จากเครื่องยนต์โดยเฉพาะในเครื่องยนต์ดีเซล หลายๆคนบอกว่าเป็นตัวตัดทอนหรือลดกำลังงานของเครื่องยนต์ ทำให้รถวิ่งไม่ออก ก่อนที่จะตัดทอนถอดถอนมันทิ้งไป มาทำความรู้จักกับมันก่อนดีไหม  ที่จริงแล้ววาล์วตัวนี้หรืออีจีอาร์วาล์วนี่ไม่ได้เพิ่งจะมีในรถปัจจุบันและมีใช้เฉพาะในเครื่องยนต์ดีเซลเท่านั้น มีใช้ในเครื่องยนต์เบนซินด้วยนะครับและมีมานานแล้ว เอาที่ผมเริ่มรู้จักกับหมอนี่มาก็ยี่สิบสามสิบปีได้แล้วมั๊ง ครั้งแรกที่เจอก็เจอในรถเก๋งของโตโยต้ารุ่นหนึ่งที่ใช้เครื่องยนต์ในตระกูลอาร์แบบว่าพวก18R 20R 22R ในครั้งกระโน้น ก็มีปัญหาให้แก้ไขกันกับวาล์วตัวนี้แต่ก็ไม่เคยถึงต้องถอดออก เสียก็ซ่อมๆไม่ได้ก็เปลี่ยนใหม่

    Advertisements

                    วาล์วตัวนี้ในปัจจุบันถือว่าเป็นเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานที่ค่ายรถที่ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลปัดฝุ่นเอามาพัฒนาแข่งขันกันใหม่ เพราะพิสูจน์กันแล้วว่าอีจีอาร์วาล์ว สามารถที่จะลดอัตราการกินน้ำมันได้ส่วนหนึ่งแต่ที่สำคัญชิ้นส่วนตัวกระจ้อยร่อยตัวนี้มีต้นทุนไม่มากนักในการผลิตแต่ให้ผลในการลดมลพิษจากไอเสียตัวหนึ่งที่ลดได้ยากเย็นก็คือไนโตรเจนอ็อกไซด์ ทำหน้าที่ง่ายกลไกง่ายๆคือเอาไอเสียที่ออกจากวาล์วไอเสียหลังการจุดระเบิดส่วนหนึ่ง กลับไปเผาไหม้ใหม่ ขอย้ำนะครับว่าไอเสียเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้นที่เอากลับเข้าไปเผาไหม้กันใหม่ คำถามก็คงมีอยู่ว่าทำไมต้องเอากลับไปเผาไหม้ใหม่ ก็ต้องย้อนกลับไปที่พื้นฐานของเครื่องยนต์สักนิดหน่อย ปกติแล้วเครื่องยนต์เมื่อถูกจุดระเบิดหรือเกิดการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั้นในห้องเผาไหม้จะมีอุณหภูมิสูงมากๆ อุณหภูมิที่สูงมากๆของห้องเผาไหม้ ทำให้เกิดปัญหาหลายอย่าง โดยเฉพาะเครื่องแรงจะตก เมื่อแรงตกก็กินน้ำมัน เท่านั้นไม่พอปัญหาหนักอกของผู้ผลิตเครื่องยนต์ก็คือแกสพิษจากไอเสีย ก็จะเพิ่มตามไปด้วย

                    ในยุคปัจจุบันที่เรื่องภาวะของโลกร้อนที่เกิดจากไอเสียของรถยนต์โดยเฉพาะจากไนโตรเจนอ็อกไซด์ที่เกิดจากน้ำมันดีเซลหรือการทำงานของเครื่องยนต์ดีเซลนั้น ค่ายผลิตยักษ์ใหญ่ที่ผลิตเครื่องยนต์ดีเซลตั้งแต่เล็กสุด(ในรถเก๋ง)หรือใหญ่สุดในรถบรรทุกขนาดหมื่นสองหมื่นซีซีนั้นแตกแยกเทคโนโลยีออกเป็นสองทาง ฟากค่ายหนึ่งลดแกสพิษโดยใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า บลูเทค(Blue Tech) หรือการฉีดปุ๋ยยูเรียเข้าไปในท่อไอเสียเพื่อทำปฏิกิริยากับแกสพิษให้เป็นไนโตรเจนและอ็อกซิเจน ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ได้ผลดีทีเดียวแต่ต้องมีอุปกรณ์ราคาแพงเพิ่มเติมหลายๆอย่างต้องมีกระป๋องคอยเติมปุ๋ยยูเรียตลอดเวลา เป็นภาระทางต้นทุนและเป็นภาระของผู้ใช้ที่จะต้องคอยเติมปุ๋ย

    Advertisements

                    ส่วนอีกฟากค่ายหนึ่งยักษ์ใหญ่ไม่แพ้กันปัดฝุ่นหรือพัฒนาเอาระบบอีจีอาร์วาล์วคือการนำไอเสีย(ส่วนหนึ่ง)กลับมาเผาไหม้ใหม่ และก็ได้ผลไม่แพ้การใส่ปุ๋ย ไอเสียที่ผ่านวาล์วตัวนี้จะมีอุณหภูมิที่ลดลงบางยี่ห้ออาจจะเอามาระบายความร้อนด้วยน้ำก่อนเอาไปเข้าห้องเผาไหม้ บางยี่ห้อให้ระบายความร้อนด้วยน้ำ ไอเสียส่วนหนึ่งที่เย็นลง ก็จะทำให้อุหภูมิในห้องเผาไหม้ลดลง เมื่อห้องเผาไหม้เย็นลงอากาศหรืออ็อกซิเจนที่เป็นตัวหลักในการสร้างกำลังก็จะมีความหนาแน่นมากขึ้น กำลังเครื่องก็ไม่ตกลง ความประหยัดก็เกิดขึ้น แต่ที่สำคัญหรือเป้าประสงค์หลักก็คือการลดแกสพิษ ไอเสียปลดปล่อยมลพิษได้น้อยลงจนอยู่ในระดับมาตรฐานการควบคุมอันเข้มงวดทั้งฝ่ายประชาคมยุโรปและฝ่ายสหรัฐอเมริกา

    อีจีอาร์วาล์วหรือการนำไอเสียกลับมาเผาไหม้ใหม่จึงเป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่จะต้องติดตั้งไว้ในเครื่องยนต์โดยเฉพาะกับเครื่องยนต์ที่ใช้น้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิง

                    เห็นมั๊ยครับว่าอีจีอาร์วาล์วมีประโยชน์มากมายแค่ไหนใช้เทคโนโลยีพื้นๆราคาไม่สูงมาก แน่นอนใช้ไปแล้วก็ต้องเสีย เมื่อเสีย ก็ต้องซ่อมถ้าซ่อมไม่ได้ก็ต้องเปลี่ยน ถ้าถอดออกทิ้งผลเสียนอกจากที่กล่าวมาแล้ว ไอเสียที่ไม่มีอีจีอาร์วาล์วก็จะทำให้ตัวแปรสภาพไอเสียที่ฝรั่งเรียกว่า )Oxidation Catalytic converter  เสื่อมสภาพหรือตันเร็วมากขึ้น ถึงขั้นนั้นแล้วเสียเงินมากกว่าแน่นอน อย่าไปถอดเลยครับเขามาอย่างไรก็ให้อยู่กันอย่างนั้นเป็นผลดีทั้งโลกที่เราอยู่และกระเป๋าตังค์ของคุณ

    Advertisements

    CR:นายประโยชน์

    Advertisements
    Exit mobile version